วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา


ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (คริสต์ศตวรรษที่ 12-ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18)


ศิลปะแบบเรอเนซองซ์ (Renaissance)
          ศิลปะแบบเรอเนซองซ์มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความพยายามสร้างงานศิลปะให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด และแสดงออกถึงจิตใจของกลุ่มชนมากกว่าแสดงออกซึ่งความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่ง ศิลปะในสมัยนี้จึงเป็นการแสดงออกซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มิได้สรรค์สร้างเพื่อยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์หรือศาสนา
          จิตรกรรม ในสมัยนี้มีความก้าวหน้าทางการวาดภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดภาพบน  ฝาผนังแบบเฟรสโก (Fresco) ซึ่งเป็นวิธีวาดภาพบนผนังปูนเปียกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนผนังปูนแห้ง เพื่อจะได้ง่ายต่อการดูดซึมของสี วิธีการนี้ให้ความคงทนถาวรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การวาดภาพยังนิยมวาดให้มีทัศนียภาพทำให้เกิดเป็นภาพ 3 มิติ (Perspective) ภาพวาดจึงดูสมจริงและมีชีวิตชีวา
           เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) เป็นศิลปินที่มีอัจฉริยะภาพในสมัยนี้ ซึ่งมีความสามารถรอบด้าน เขาได้คิดค้นการวาดภาพโดยใช้เทคนิคสฟูมาโต (Sfumato) คือ การทำให้ภาพด้านหลังเลือนรางเหมือนมีหมอก อันเป็นการสร้างระยะไกลให้เกิดขึ้นและทำให้ภาพเด่นมากขึ้นอีกด้วย การนำหลักวาดภาพที่เรียกว่า แวนิชชิ่ง พอยท์ (Vanishing Point) เป็นการนำจุดนำสายตามาใช้ในการวาดภาพ ทำให้งานของเขามีความงดงามอยู่บนพื้นฐานความกลมกลืนระหว่างศีรษะของมนุษย์กับทัศนียภาพที่เป็นธรรมชาติ จึงสร้างอารมณ์ให้แก่ผู้ชม ผลงานจิตรกรรมที่สำคัญของเขาได้แก่ ภาพโมนาลิซา (Monalisa) ภาพอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) เป็นต้น


 ภาพโมนาลิซา
                                                   ผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี

นอกจากนี้ยังมีศิลปินคนสำคัญอีก เช่น ซานซิโอ ราฟาเอล (Sanzio  Raphaal) ผลงานของเขาเน้นความงามของรูปร่างมนุษย์ที่แสดงอารมณ์หลากหลาย เน้นสีสด กายวิภาคความงามอ่อนช้อย เหมือนเคลื่อนไหวภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดคือภาพโรงเรียนเอเธนส์ (The School of Athens) เป็นภาพที่เกี่ยวกับนักปรัชญากรีกหลายคน ศิลปินอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นต้นแบบของศิลปกรรมในสมัยต่อมา คือ มิเกลัน หรือไมเคิลแองเจโล (Michaelangelo) ผู้มีความสามารถทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ผลงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย (The Last of Judgement) งานจิตรกรรมของไมเคิลแองเจโล มีลักษณะโดดเด่นแสดงออกให้เห็นการเปลือยกายเห็นกล้ามเนื้อและกายวิภาคอย่างชัดเจน

                                      ภาพโรงเรียนเอเธนส์ ผลงานจิตรกรรมของราฟาเอล            
  ประดับที่วังพระสันตะปาปา นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี 

                                ภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย ผลงานจิตรกรรมของไมเคิลแองเจโล
                                   บนฝาผนังโบสถ์ซีสติน ณ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี

         ประติมากรรม งานแกะสลักเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้ วัสดุที่นิยมแกะเป็นพวกหินอ่อนมากกว่าหินชนิดอื่น ๆ ศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ไมเคิลแองเจโล ผลงานของเขาส่วนมากได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์แต่รูปแบบยังคงดำเนินตามแบบกรีกและโรมัน งานประติมากรรมที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของโลก คือ ปิเอตา (Pieta) ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารเซนต์เซนต์ปีเตอร์ งานแกะสลักรูปเดวิด (David) วีรบุรุษของชาวยิว ปัจจุบันอยู่ที่  สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเมืองฟลอเรนซ์
                                                  ประติมากรรมแกะสลักรูปเดวิด
                                          ผลงานของไมเคิลแองเจโล ณ สถาบันวิจิตรศิลป์
                                                 แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

   สถาปัตยกรรม ในสมัยนี้มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความแน่นหนาถาวรคำนึงถึงสัดส่วนอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีลักษณะหรูหราแปลกตา สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ สร้างเมื่อ ค.ศ. 1506-1626 ใช้เวลาก่อสร้าง 120 ปี ทำให้โบสถ์เซนต์ปีเตอร์มีความวิจิตรพิสดาร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของโลก
          สรุปได้ว่า ศิลปกรรมเรอเนซองซ์ แสดงออกซึ่งจิตวิญญาณตามแบบคริสเตียนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สรีระแบบเหมือนจริงตามวิถีแบบกรีกโรมัน แต่ก็เป็นไปเพื่อรับใช้ศาสนาผ่านการสร้างสรรค์งานของศิลปิน                      
                                     โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ นครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี
                                           

ศิลปะบาโรก (Baroque)

          ช่วงเวลาที่ศิลปะแบบเรอเนซองซ์ (Renaissance) กำลังแพร่หลายทั่วยุโรปจนเกิดความอิ่มตัวนั้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ได้เกิดศิลปะแนวใหม่ที่เรียกว่า “บาโรก” (Baroque) ซึ่งกระจายอยู่ในหลายประเทศของยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น
          ลักษณะศิลปะของบาโรกมีความแตกต่างจากศิลปะเรอเนซองซ์ตรงที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวมากกว่า ถ้าวาดภาพคนก็มักจะตกแต่งเกินปกติ เสื้อผ้าอาภรณ์รวมทั้งการประดับตกแต่งอาคารมักจะฉูดฉาด สีสันแพรวพราว ระยิบระยับ
          อาจกล่าวได้ว่าศิลปะบาโรกมีลักษณะงานที่เกิดจากความอิ่มตัวของศิลปะในสมัยเรอเนซองซ์ ประกอบกับสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่นักปราชญ์ทางคณิตศาสตร์เฟื่องฟู เช่น เรอเน เดส์การ์ต (Renee Descartes) เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ดังนั้น แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เรขาคณิต และฟิสิกส์ จึงมีผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบบาโรก โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมซึ่งนิยมออกแบบให้มีลวดลายเรขาคณิตจำพวกเส้นโค้ง และการจัดลวดลายที่วางระยะห่างเหมาะสมกับพื้นที่ว่าง มีการตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรบรรจงแต่เคร่งครัดในการเดินตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด การตกแต่งภายในอาคารเน้นความหรูหรา สง่า น่าเกรงขาม แสดงออกซึ่งความรู้สึกของความมั่งคั่งหรูหรา ในสมัยนี้ชนชั้นศักดินาต่าง ๆ นิยมตกแต่งประดับประดาอาคารที่พักอย่างหรูหราในเชิงแข่งขันกัน โดยเฉพาะกรุงปารีส เป็นศุนย์กลางแห่งศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญในสมัยนั้น
          ศิลปินบาโรกที่สำคัญโดยส่วนใหญ่เป็นจิตรกรได้แก่ ดิเอโก เวลาซ์เควซ (Diego Velaazquez) ศิลปินชาวสเปน มีผลงานที่สำคัญคือ ภาพลาสเมนีนาส (Las meninas) เรมบรานด์ ฟาน ริจ์น (Renbrandt Van Rijn) ศิลปินชาวดัทซ์ มีผลงานวาดภาพเหมือนของตนเอง และภาพสมาคมพ่อค้า (Syndics of the Cloth Guild) จูลส์ อาดวง มองซารต์ (Jules Hardouin Monsart) ผู้ออกแบบโรงสวดในพระราชวังแวร์ซาย    
                             “การแต่งงานของนักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย”                            

                                           (The Mystic Marriage of St. Catherine)
                                                   โดย อันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ

                                               พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส

ศิลปะโรโคโค (Rococo)

          หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สวรรคตแล้ว ฝรั่งเศสยังคงเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรมโดยเฉพาะกรุงปารีส แต่ศิลปะได้เริ่มเปลี่ยนจากบาโรกเป็นโรโคโค ศิลปะโรโคโคนั้นได้ลดทอนบางอย่างลงไป เช่น ลวดลายที่หนาแน่นในแบบบาโรกได้ถูกลดลงเพื่อทำให้ดูบอบบาง และปรับปรุงลวดลายเพื่อทำให้เกิดความอ่อนหวาน ส่วนเส้นโค้งที่นิยมมากในสมัยบาโรก ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้น้อยลงและเพิ่มเส้นตรง
          สำหรับงานจิตรกรรมและประติมากรรมของโรโคโคนั้น มีลักษณะเป็นแบบวิชาการชั้นสูง (Classic Academic Character) ทางด้านจิตรกรรมมีการใช้สีสันที่สดชื่น นุ่มนวล ดูมีชีวิตชีวา แต่แสดงออกซึ่งความกลมกลืนกันของสีและรูปร่าง เช่นผลงานของฌอง อองตวน วัตโต (Jean Antoine Watteau) ศิลปินฝรั่งเศส ผู้สร้างผลงานภาพการกลับมาของไซเธรา (Return from Cythera) ฟรองซัวส์  บูแชร์ (Francoise  Boucher) วาดภาพกามเทพ (Cupid a Coptive) ฌอง-โอโนเร  ฟราโกนาร์ด (Jean-Honore Fragonard) วาดภาพโล้ชิงช้า (The swing) ประติมากรที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะโรโคโค ได้แก่ โคลดิออง (Clodion : Claude Michel) สลักรูป “Nymph and Satyr” และฌอง    อองตวน อูดง (Jean Antoine Houdon) สลักรูปเหมือนของวอลแตร์ (Voltaire) เป็นต้น

                                          ภาพโล้ชิงช้า ผลงานจิตรกรรมของ ฟราโกนาร์ด
                                                     “Nymph and Satyr
                                                ผลงานประติมากรรมของโคลดิออง

                           สรุปศิลปะยุคฟื้นฟฟูศิลปวิทยา





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น