วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

ศิลปะยุคสมัยกลาง


ศิลปะไบแซนไทน (Byzantine Art : ค.ศ. 330-1453)


            ศิลปกรรมของไบแซนไทน์ มีลักษณะผสมระหว่างวัฒนธรรมเฮเลนิสติกของกรีก กับวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ทำให้รูปลักษณะค่อนข้างแปลก และแตกต่างจากงานโรมันทั่ว ๆ ไป แต่เนื้อหามีลักษณะโดดเด่นในเรื่องของศาสนา จึงไม่มุ่งความงามเป็นหลัก แต่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมศาสนาและศีลธรรม ในระยะแรกการสร้างงานศิลปะนิยมสร้างรูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น แกะนกพิราบ ปลา ต่อมาจึงเริ่มแสดงออกซึ่งรูปเคารพทางศาสนา เช่น พระเยซู แม่พระ นักบุญต่าง ๆ งานศิลปกรรมของไบแซนไทน์จำแนกได้ดังนี้

         จิตรกรรม งานจิตรกรรมของไบแซนไทน์ใช้สีฉูดฉาก มีการนำสีทองมาตกแต่งให้เกิดความอลังการและความขลังตามแนวของศิลปกรรมตะวันออก การวาดภาพนอกจากจะมีการวาดภาพฝาผนังแบบเฟรสโกแล้วยังนิยมการทำโมเสกประดับตกแต่งฝาผนังและพื้นห้อง นอกจากนี้ยังนิยมการเขียนภาพประกอบในคัมภีร์ เนื้อหาของภาพเกี่ยวกับพระเจ้า นิยมวาดภาพการแต่งกายมิดชิด โครงสร้างของคนค่อนข้างผอมสูงไม่เน้นความถูกต้องทางกายภาพแต่เน้นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตวิญญาณของชาวคริสเตียนที่มีความภักดีและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
ประติมากรรม งานประติมากรรมของไบแซนไทน์นิยมสร้างงานเกี่ยวกับบุคคลในศาสนา มีทั้งภาพนูนสูง นูนต่ำ และลอยตัว ตลอดจนมีการแกะสลักฉลุลายอย่างสวยงาม โดยใช้วัสดุจากช้างและหินอ่อน โดยเฉพาะการนำหินอ่อนมาฉลุลายเป็นรูปใบไม้ ดอกไม้ และตัวสัตว์สำหรับทำฉากกั้น การทำหัวเสามีความละเอียดประณีต นิยมการเล่นแสงและเงา
สถาปัตยกรรม ในสมัยนี้สถาปัตยกรรมมีหลายรูปแบบ แต่นิยมโครงสร้างบาสิลิกาแบบโรมันหลังคาโดม หรืออาจทำโครงสร้างแบบกรีกครอส หรือกากบาท (Greek Cross) ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบไบแซนไทน์แท้ ๆ เช่น โบสถ์เซนต์โซเฟีย (St.Sophia) รูปแบบนี้ต่อมาได้มีอิทธิพลต่อการสร้างสุเหร่าของชาวมุสลิม





ศิลปะโรมาเนสค์และศิลปะโกธิค (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6-15)

           หลังจากโรมันตะวันตกล่มสลายไป แต่ความเชื่อในด้านคริสต์ศาสนายังคงมีอยู่ เหล่าอนารยชนที่เข้ามามีอำนาจในอาณาจักรโรมันตะวันตก ได้ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา ทำให้ความเข้มแข็งของศาสนาคริสต์เพิ่มมาขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้พระสันตะปาปาผู้เป็นประมุขในกรุงโรมมีอำนาจเหนือสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยกลาง จึงเป็นที่รู้จักในนาม “สมัยแห่งความศรัทธา (Age of faith)”
            การแสดงออกทางศิลปกรรมในสมัยกลาง มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ศิลปะโรมาเนสค์ (Romanesque) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของพระซึ่งเป็นผู้นำในด้านศาสนาและการปกครอง มีการนำรูโค้งแบบโรมันเข้ามาประกอบการสร้าง ลักษณะกำแพงโบสถ์หนาและทึบตัน จึงมีประตูลึกลดหลั่นเป็นตอน ๆ หน้าต่างปล่อยแสงเข้ามาในอาคารน้อย ทำให้ภานในอาคารค่อนข้างมืด นิยมตกแต่งอาคารด้วยรูปพระเยซูและนักบุญต่าง ๆ จิตรกรรมและประติมากรรมจึงเป็นเรื่องราวทางศาสนา

             ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีการสร้างงานศิลปะแบบโกธิค (Gothic) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมในของประชาขน จึงทำให้เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวาและละเอียดประณีตมาก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาอีกด้วย ศิลปะแบบโกธิคมีความอ่อนช้อย แสดงออกซึ่งศรัทธาต่อพระศาสนาอย่างแรกกล้า การตกแต่งมีทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม ศิลปกรรมที่โดดเด่นและกลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะแบบโกธิคคือ กระจกสเตนแกลส (Stained glass) ซึ่งเกิดจากการนำกระจกสีมาตัดเป็นรูปร่างและเรื่องราวตามที่ต้องการ จากนั้นจึงนำมาเชื่อมต่อกันด้วยโลหะประเภทตะกั่ว นำยมประดับตามหน้าต่างและประตู ทำให้เกิดความอลังการ  เมื่องแสงอาทิตย์มาตกกระทบยังรูปภาพเหล่านี้ ก็จะเกิดการสะท้อนของสีต่าง ๆ มากกมาย ทำให้สวยงามและแปลกตา นอกจากนี้ยังมีการหล่อรูปพระเยซู แม่พระและนักบุญต่าง ๆ ประดับตามหลังคา หน้าต่าง และประตูของโบสถ์  ประกอบกับการสร้างหลังคายอดแหลมสูงทำให้โบสถ์แบบโกธิคมีความงดงามประดุจสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า เช่น โบสถ์นอร์ทเตรอ ดาม กรุงปารีส (Nortre Dame de Paris)
              ศิลปกรรมในสมัยนี้ไม่ได้มีแต่การสร้างโบสถ์และวิหาร แกะสลักรูปเคารพ หรือการเขียนภาพประกอบเรื่องราวในพระคัมภีร์เท่านั้น ยังมีการแกะสลักส่วนประกอบที่ใช้ตกแต่งอาคาร เช่น การแกะสลักฉากกั้นห้อง การแกะสลักเสาวิหาร การแกะสลักรูปติดบนสันหลังคาและที่เหนือบานประตูอีกด้วย

             สรุปได้ว่า งานศิลปกรรมสมัยกลางมีเนื้อหาและรูปแบบที่มุ่งแสดงแนวคิดทางคริสต์ศาสนา ทำให้เกิดความนิยมในการสร้างรูปเคารพของพระเยซู  แม่พระ และนักบุญต่าง ๆ มากมาย โดยไม่ต้องการเน้นความงามมากนัก แต่เน้นด้านเนื้อหาเพื่อเตือนใจและสอนมนุษย์ให้หยุดความชั่วร้าย กระทำแต่ความดีงามเพื่อชีวิตในโลกหน้า ศิลปะสมัยนี้จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เข้าใจศาสนามากยิ่งขึ้น
โบสถ์นอร์ทเตรอ ดาม กรุงปารีส (Nortre Dame de Paris)
การประดับกระจกสเตนแกลส


                                   สรุปศิลปะสมัยกลาง


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2566 เวลา 18:14

    มีประโยชน์มากๆเลยค่ะคล้ายกับที่จดสรุปก่อนออกสอบแต่มีเนื้อหาเยอะมากค่ะเน้นๆเลย

    ตอบลบ