วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564


วิชาศิลปะ ชัั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง รูปร่างรูปทรงในงานศิลปะ


คลิปวีดิโอนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของโรงเรียนอนุบาลราชบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
จัดทำโดย ครูจิดาภา ศรีสวัสดิ์ ครูผู้สอนรายวิชาศิลปะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
Facebook fanpage : JSTP Art Studio
#สื่อการสอน #ศิลปะ #ทัศนศิลป์ #ทัศนธาตุ #เส้น #สอนวาดภาพ #ศิลปะป.2 #jstpartstudio #JSTPArtStudio



วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

บรรณานุกรม


บรรณานุกรม


กระทรวงศึกษาธิการ. (2552). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กําจร สุนพงษศรี. (2528). ศิลปะสมัยใหม. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

____________.(2532). ประวัติศาสตรศิลปะตะวันตก. กรุงเทพฯ : เพื่อนพิมพ.

คู่มือพระราชทานฯ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 (การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม). อ้างอิง: http://dltv.ac.th

ธงชัย  รักปทุม. (2555). หนังสือเรียนยรายวิชาพื้นฐาน ทัศนศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2542). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์.

วีระจักร์  สุเอียนทรเมธี. (2557). พัฒนาการแนวคิดและแบบลักษณ์ศิลปะตะวันตกอย่างสังเขป. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุชาติ เถาทอง และคณะ. (ม.ป.ป.). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ทัศนศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.



ยุคศิลปะสมัยใหม่


ยุคศิลปะสมัยใหม่ (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 – คริสต์ศักราช 1945)

หลังจากสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาเป็นต้นมาวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อความคิดและศิลปวัฒนธรรมทำให้สถาบันศาสนาเริ่มเสื่อมลง ประเทศในยุโรปเริ่มติดต่อและมีสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกตะวันออกมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและวิทยาการต่าง ๆ อันเป็นผลนำไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ และความก้าวหน้าในทางศิลปะด้วย
ในระยะแรกศิลปะสมัยใหม่มีลักษณะแบบนีโอคลาสสิค (Neo-classicism) ซึ่งมีรากฐานอยู่บนเหตุผลและมีแบบแผนเช่นเดียวกับศิลปะกรีกและโรมันความงามของศิลปะจึงปรากฏออกมาในรูปของสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค เนื้อหาและเรื่องราวต่าง ๆ ในงานศิลปะตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญของบุคคลในภาพจะถูกต้องสมเหตุสมผลและมีแบบแผน ศิลปินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่ม คือ ยาค หลุยส์ เดวิด (Jacques Louis David) ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ คำปฏิญาณของโฮราที (The Oth of Horatii) ต่อมาเดวิดได้เปลี่ยนรูปแบบการวาดภาพตามแนวกรีกและโรมันมาเป็นแบบสะท้อนสังคมซึ่งตรงกับสมัยปฏิวัติของฝรั่งเศส จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งการปฏิวัติ (The Painter of Revolution)”
หลังจากเกิดรูแอบบศิลปะนีโอคลาสสิกแล้ว ได้มีการเคลื่อนไหวทางศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ที่ท้าทายต่อลัทธินีโอคลาสสิค โดยไม่ยอมรับแบบแผนตามแนวกรีกและโรมัน ตลอดจนพยายามหนีออกจากเหตุผลไปค้นหาความจริงใหม่ ๆ ตามวิถีทางที่ตนปรารถนา รูปแบบศิลปะเหล่านี้ ได้แก่ ลัทธิโรแมนติก (Romanticism) ลัทธิสัจนิยม (Realism) และลัทธิอิมเพรสชันนิซึม (Impressionism)
ลัทธิโรแมนติก เป็นรูปแบบศิลปะที่ให้ความสำคัญและยอมรับในความจริงของจิต สุนทรียภาพของศิลปะแบบนี้จึงอยู่ที่การตัดกันของน้ำหนัก แสงและเงา ตลอดจนสีและการจัดภาพเพื่อให้เกิดความจริงจนเกิดอารมณ์หวั่นไหว ตื่นเต้นและเย้ายวนไปตามลีลาที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ คุณค่าของศิลปกรรมแบบนี้ เน้นความรู้สึกทางอารมณ์เป็นสำคัญ ศิลปินที่สำคัญได้แก่ ธีโอดอร์  เจอริโคลต์ (Theodore Gericault) ผู้วาดภาพแพนางเมดูซา (The Raft of the Medusa)ภาพแพนางเมดูซา (The Raft of the Medusa) เออแฌน  เดอลาครัวซ์ (Eugene Delacroix) วาดภพเสรีภาพนำหน้าประชาชน (Liberty Guiding People)


                                              ภาพแพนางเมดูซา (The Raft of the Medusa)   
                                                  ผลงานจิตรกรรมของเจอริโคลต์

ลัทธิสัจนิยม (Realism)  เป็นรูปแบบศิลปะที่พยายามหนีความเป็นอุดมคติ (Idealism) มุ่งค้นหาชีวิตจริงศิลปินในสมัยนี้จึงวาดภาพที่สะท้อนความจริงในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่ขอทาน จนกระทั่งถึงชนชั้นขุนนางและกษัตริย์ เพื่อแสดงออกซึ่งสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีภาพทิวทัศน์และความงดงามของธรรมชาติที่สะท้อนจากประสบการณ์ของศิลปินเหมือนเป็นการบันทึกเรื่องราวที่ศิลปินได้พบมา ดังนั้นศิลปินในความหมายของลัทธิสัจนิยม คือ ผู้แสดงออกซึ่งความจริงที่ตนได้เห็นมา ศิลปินกล้าเผชิญกับความจริงและสร้างงานที่เป็นผลิตผลมาจากความจริง โดยแสดงออกมาให้ละเอียดครบถ้วนตามความสามารถ
ลัทธิอิมเพรสชันนิซึม (Impressionism) หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เราอาจกล่าวได้ว่าศิลปะได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น เพราะศิลปินมีความคิดว่าศิลปะสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับรูปแบบศิลปะตามลัทธินิยมแบบเก่า ๆ อีกต่อไป ภาพเขียนไม่จำเป็นต้องวาดภาพให้เหมือนรูปถ่ายหรือเลียนแบบจากธรรมชาติจริง ๆ แต่ศิลปะควรมาจากการรับรู้ ซึ่งเกิดจากความประทับใจของศิลปินที่มีต่อธรรมชาติ ผู้คน บ้านเมือง และสิ่งแวดล้อม
งานอิมเพรสชันนิซึม จึงเป็นงานที่เกี่ยวกับแสงและเงา ที่ศิลปินได้รับรู้ มาจากสิ่งที่ตนเห็นและประทับใจ แล้วแสดงความรู้สึกนั้นออกมา ทันทีในงานศิลปะ มีการละทิ้งค่านิยมและหลักการออกแบบเก่าๆ เช่น การจัดองค์ประกอบ การจัดความสมดุล นิยมว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแสง เช่น แม่น้ำดวงอาทิตย์ ทะเล และลำคลอง การวาดภาพแบบอิมเพรสชันนิซึมมีการระบายสีอย่างรวดเร็ว ใช้เทคนิคผู้การโดยทิ้งรอยแปลงและมีความฉับไวในการจับแสง สีในบรรยากาศซึ่งกำลังปรากฏต่อหน้า ภาพแบบอิมเพรสชันนิซึม จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีการคิดฝันหรือจินตนาการ ศิลปินคนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอดวร์ด มาเนต์ (Edouard Manet) ผลงานที่สำคัญ คือ ภาพโอลิมเปีย (Olympia) และภาพอาหารมื้อเช้าบนสนามหญ้า ( Le Dejeuner sur herbe)
โคลด โมเนท์ ( claude Monet) สร้างผลงานภาพทิวทัศน์ แล้วใช้สีค่อนข้างเข้มข้นขึ้นเป็นสีแท้ๆแต่ให้ความรู้สึกแบบมีระยะ นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพ เป็นชุดที่แสดงความผันแปรของอารมณ์และแสงสีในเวลาต่างกัน ผลงานที่มีชื่อเสียงมาก คือ ภาพพระอาทิตย์ขึ้น (The sunrise) นอกจากนี้ยังมีศิลปินอีกหลายท่าน เช่น ปิแอร์ ออกุส เรอนัวร ( Pierre Auguste Renoir) ย่อมสร้างผลงานภาพผู้หญิงโดยมีฉากหลังเป็นส่วนประกอบ และภาพสังคมที่มีจำนวนมาก เช่นภาพการเลี้ยงอาหารกลางวันบนเรือ (Luncheon on the Boating)และมูแห่งกาเลต (Le Moulin de la Galette) เป็นต้น 
                            ภาพพระอาทิตย์ขึ้น ผลงานจิตรกรรมของโคลด โมเนท์

ต่อมาศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ได้เกิดการพัฒนาขึ้นทำให้เกิดรูปแบบที่มีลีลาต่างจากเดิม นักประวัติศาสตร์ศิลป์เรียกพวกนี้ว่า"โพสต์อิมเพรสชันนิซึม ( Post-Impressionism)" เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับความเชื่อที่ว่า "การเขียนให้มีรายละเอียดโดยเลียนแบบอย่างเป็นจริงตามธรรมชาติจะเป็นจุดมุ่งหมายอันแท้จริงของจิตรกรรม" ศิลปินกลุ่มนี้ไม่นิยมการลอกเลียนแบบแต่พยายามสร้างรูปทรงและบรรยากาศให้มีความสัมพันธ์กลมกลืนกัน มีการลดตัดทอนรูปทรงง่าย ภาพจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกให้มิติของระยะใกล้ไกล มากกว่ารูปแบบลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ซึม ศิลปินโพสต์อิมเพรสชันนิซึม ที่สำคัญ อาทิ ปอล เซซาน ( Paul Ce Zanne) ผลงานของเขาแสดงออกซึ่งความรู้สึก สีและรูปทรงเป็นแบบง่ายๆ มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ให้ความสำคัญกับสีมาใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับระยะใช้สีเข้มแสดงระยะใกล้สีอ่อนแสดงระยะไกล ผลงานสำคัญ คือภาพคุณนายเซซานในบ้านสีเขียว (Madamme Ce Zanne in the Green house)
วินเซนต์ ฟาน ก๊อก ( Vincent Van Gogh) เป็นศิลปิน 2 สมัยระหว่างโพสต์อิมเพรสชันนิซึมและเอกซ์เพรสชันนิซึม (Expressionism) ทั้งนี้ เพราะผลงานในระยะแรก ของเขาแสดงลักษณะแสงสีมากกว่าความรู้สึกประทับใจ ได้แก่ ภาพราตรีประดับดาว (Starry Night) ส่วนผลงานในระยะหลัง แสดงความรู้สึกภายในมากกว่าแสงสี มีลักษณะเด่นตรงรอยแปรง ที่ทำให้เกิด ความรู้สึกได้ดีเยี่ยม เช่น ภาพดอกทานตะวัน (Sunflower) และภาพเหมือนตนเอง (Self-Portrait) เป็นต้น


                                                 ภาพดอกทานตะวัน (Sunflower)                       
                                        ผลงานของวินเซนต์ ฟาน ก๊อก  

                                          ภาพเหมือนตนเอง (Self-Portrait)
                                                   ผลงานของวินเซนต์ ฟาน ก๊อก


ปอล  โกแกง (Paul  Gauguin) ผลงานมีลักษณะเด่นตรงที่การให้สีรุนแรงและตัดทอนรายละเอียดของรูปทรงโดยเน้นเฉพาะส่วนสำคัญ ลักษณะของรูปทรงจึงชัดเจนมีท่าทางง่าย ๆ ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพพระคริสต์สีเหลือง ( The Yellow Christ) เป็นต้น
ยอร์จ  เซอราต์ (George  Seurat) ได้นำเอาหลักวิทยาศาสตร์ในเรื่องแสงเข้ามาใช้ ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า การผสมสีในดวงตา (Optic Mixture) โดยอาศัยเทคนิคจุด (Pointiliism) ซึ่งต้องทำสีให้เป็นส่วนย่อยก่อนเพื่อสร้างสีส่วนรวม ผลงานที่ได้จึงมีความสดใส ผลงานที่สำคัญ เช่น ภาพวันอาทิตย์ตอนกลางวันบนเกาะกรังจั๊ต (Sunday Afternoon on the Island of Le Grande Jatte) นอกจากเซอราต์ก็ยังมีพอล  ซินยาค ( Paul Signac) ซึ่งมีลักษณะการสร้างงานแบบเทคนิคจุดเช่นเดียวกัน ด้วยลักษณะการวาดภาพที่แตกต่างจากศิลปินโพสต์อินเพรสชันนิซึมคนอื่น ๆ จึงมีนักประวัติศาสตร์ศิลป์จำแนกงานศิลปะลักษณะนี้ให้อยู่ในกลุ่ม “นีโออิมเพรสชันนิซึม”

                                           ภาพพระคริสต์สีเหลือง ( The Yellow Christ)                      
                            ผลงานของปอล  โกแกง                               

                                          ภาพวันอาทิตย์ตอนกลางวันบนเกาะกรังจั๊ต
                              (Sunday Afternoon on the Island of Le Grande Jatte)


         ลัทธิโฟวิซึม (Fauvism) เป็นลัทธิที่แสดงออกซึ่งความรุนแรง ตื่นเต้น เริ่มขึ้นในฝรั่งเศสโดยมีอองรี  มาตีส (Henri  Matisse) เป็นผู้นำกลุ่ม ลัทธินี้ล้มเลิกกฎเกณฑ์โบราณ โดยแสดงออกซึ่งความรู้สึกและความเป็นตัวเองมากขึ้นนิยมระบายสีสดและรุนแรง รูปทรงของวัตถุแสดงออกมาหยาบ ๆ ไม่เน้นรายละเอียดและหลักทัศนียภาพ

           สุนทรียภาพของงานศิลปะลัทธินี้เกิดจากความต้องการที่จะแสดงออกอย่างเต็มที่ ผลงานจึงแสดงออกถึง ลีลาความสนุกสนานที่เกิดมาจากเส้น รูปทรง สีและแสง วาดตัดเส้นด้วยสีสดใส หรือใส่ลวดลายทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ ที่ต่างไปจากลีลาแบบอิมเพรสชันนิซึม

          
               ลัทธินาอีฟหรือแนฟว์ (Naive) เป็นลัทธิที่แสดงออกทางศิลปะแบบขาดหลักวิชาในเชิงช่าง แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะวาดให้เหมือนจริงมากที่สุด เนื้อหาเรื่องราวล้วนสะท้อนให้เห็นภาพธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงแปตามความต้องการของจิตรกร มีลักษณะและรูปแบบเฉพาะตนเน้นอารมณ์ความรู้สึกต่อวิถีแห่งธรรมชาติ มีรายละเอียดในภาพมาก ผลงานแบบนาอีฟจึงดูคล้ายกับงานของเด็ก ศิลปินนาอีฟที่สำคัญเช่น อองรี  รุสโซ (Henri  Rousseau) ผลงานของเขามีลักษณะเป็นแบบพวกอนารยชน ได้แก่ ภาพยิปซีหลับ (The Sleeping Gypsy) และภาพสิงโตหิว (The Hungry Lion) เป็นต้น 
  ภาพสิงโตหิว (The Hungry Lion)
           ลัทธิบาศกนิยม (Cubism) เป็นลัทธิที่ถ่ายทอดศิลปกรรมเป็นรูปแบบเรขาคณิต สุนทรียภาพของลัทธินี้อยู่ที่โครงสร้างปริมาตรและรูปทรง ซึ่งเป็นสัจธรรมอันสูงสุดของสรรพสิ่ง ไม่นิยมใช้สีที่รุนแรง ผลงานส่วนใหญ่เป็นสีทึม ๆ ลัทธินี้เริ่มเคลื่อนไหวในประเทศฝรั่งเศส โดยจิตรกร 2 คน คือ จอร์จ  บาร์ค (George  Barque) ชาวฝรั่งเศส และ ปาโบล  ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ชาวสเปน ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลมาจากปอล     เซซาน ซึ่งมีความคิดว่า “เรขาคณิตเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรูปทรงทางธรรมชาติ” จิตรกรคนสำคัญในลัทธินี้ คือ ปาโบล ปิกัสโซ สร้างผลงานที่เป็นที่รู้จักไปอย่างแพร่หลาย คือ ภาพหญิงสาวแห่งเมืองอาวิยอง (Les Demoisellesd Avignon) แลภาพ เกอนีคา (Guernica) สำหรับงานประติมากรรมที่เกิดขึ้นจากลัทธินี้ ได้แก่ ประติมากรรมหญิงสาวกำลังหวีผม (Woman combing her hair) ของอเล็กซานเดอร์  อาร์ชิเปนโก (Alexande  Archipenko) และประติมากรรมคนอาบน้ำ (The Large Bathers) ของยาค  ลิปชิตซ์ (Jacques  Lipchitz) เป็นต้น

              ลัทธิฟิวเจอร์ริซึม (Futurism) เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นอิตาลี โดยมีหลักการเน้นในเรื่องความเคลื่อนไหวแสดง ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน มีการนำหลักวิทยาศาสตร์ในเรื่องความเร็วมาเขียนเป็นจังหวะซ้ำ ๆ กัน เพื่อสร้างความเร็วให้มองเห็นได้ ศิลปินลัทธินี้ปฏิเสธความเพ้อฝันแต่ยกย่องการเคลื่อนไหวของร่างกายและวัตถุ เช่น การวาดภาพคนกำลังวิ่ง สุนัขกำลังกระดิกหาง วงล้อของรถยนต์ และมือในขณะกำลังสีไวโอลิน เป็นต้น จิตรกรและประติมากรที่สำคัญ ได้แก่ อุมแบร์โต บ็อคชิโอนี (Umberto Boccioni) เป็นศิลปินชาวอิตาลีที่มีความสามารถทั้งในด้านจิตรกรรมและประติมากรรม ผลงานที่สำคัญ คือ รูปทรงที่เป็นเอกภาพของอวกาศ (Uniqe Forms of Continuity Space)

             ลัทธินามธรรม (Abstract) เป็นศิลปะที่นิยมกันมากในศตวรรษที่ 20 มีลักษณะที่เน้นในด้านรูปทรงมากกว่าการเสนอเรื่องราว และตัดทอนรายละเอียดต่าง ๆ ทำให้มีรูปทรงที่ง่าย ในงานบางชิ้นเน้นพื้นผิวหรือสีตลอดจนมีการจัดองค์ประกอบ เพื่อการแสดงออกของจิตภายใน ศิลปินผู้ริเริ่มสร้างงานตามแนวลัทธินี้ คือ วาสสิลี  คานดินสกี้ (Wassily  Kandinsky) จิตรกรชาวรัสเซีย สุนทรียภาพอยู่บนพื้นฐานของการใช้สีเข้มขึ้น สดใส และการทำพื้นผิวให้ดูเหมือนเคลื่อนไหว


              ลัทธิดาดา (Dadaism) เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นมาเพราะความขัดแย้ง เช่น ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสงคราม จึงเกิดการต่อต้านโดยแสดงออกในรูปแบบของศิลปะที่ต่อต้านทุกอย่าง ผลงานจึงมีลักษณะแปลกมากกว่าความงาม บางผลงานมีลักษณะน่าเกลียด สร้างขึ้นเพื่อเตือนใจมนุษย์ให้นึกถึงผลร้ายของสงครามและภัยของวัตถุนิยม ปรัชญาของลัทธิอยู่ที่การยอมรับในสิ่งที่ตนเองเห็น แล้วแสดงออกมาในรูปของการเสียดสี จึงเป็นการมองในแง่มุมกลับของค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งเคยยึดถือกันมา ศิลปินในลัทธินี้ ได้แก่ ฮันส์ อาร์ป (Hans Arp) มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) แม็กซ์ แอนส์ (Max Ernst) และพอลลา โมเดอร์สัน เบคเกอร์ (Paula Modersohn Becket) เป็นต้น

          ลัทธิเซอร์เรียลลิซึม (Surrealism) เป็นศิลปะที่แสดงออกอย่างเสรีของจิตไร้สำนึก มีลักษณะของความฝันและความคิดที่ไม่ถูกชักนำ แสดงออกซึ่งความกลัว ความผิดหวัง ความรัก และการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ของอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนแสดงออกถึงความอนิจจังของสรรพสิ่ง ศิลปะลัทธินี้ได้รับอิทธิพลมากจากแนวคิดของ ซิกมันด์  ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย และคาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ เซอร์เรียลลิซึม คือ วิญญาณนิยมที่ถือว่าชีวิตมีอยู่ได้เพราะวิญญาณ ศิลปินในลัทธินี้จึงเปรียบเสมือนบุคคลที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งซึ่งไร้วิญญาณให้ฟื้นกลับมามีชีวิต เช่น ภาพลางร้ายของสงครามกลางเมือง (Premonition of Civil War) ของซาลวาดอร์  ดาลี (Salvados Dali) ภาพวันเกิด (Birth Day) ของมาร์ค ชากาล  (Marc Chagall) และผลงานต่าง ๆ ของพอล คลี (Paul Klee) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประติมากรคนสำคัญ คือ อัลเบอร์โต จีอาโกเมตติ (Alberto Giacometti) เป็นต้น



             ศิลปะประชานิยม (Pop Art) เป็นศิลปะที่แสดงออกซึ่งวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาและพยายามหาทางสร้างศิลปะที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนผืนผ้าใบหรือแผ่นไม้ แต่นำเอาวัสดุต่าง ๆ มาติดเข้ากับผืนภาพ งานศิลปะแบบนี้จึงเป็นที่นิยมอยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ศิลปินที่สำคัญ ได้แก่ โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) ได้นำเอาวัสดุต่าง ๆ เช่น หัวแพะสตัฟยางรถยนต์ สายไฟ มาประกอบกัน และให้ชื่อว่า “อักษรย่อ (Monogram)” นอกจากนี้งานศิลปะประชานิยมจะมีลักษณะคล้ายกับงานโฆษณา เช่น ผลงานของรอย ลิชเชนสไตน์ (Roy Lichtenatein) มีผลงานวาดภาพคล้ายกับงานการ์ตูนโดยนำเอาเทคนิคทางพาณิชย์เข้ามาช่วย


              ออปอาร์ต (Op Art) คำว่า Op. Art มาจากคำว่า Optical Art เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับตาและการรับรู้ทางตา เพราะฉะนั้นผลงานในลัทธินี้จึงเน้นสีเข้มและสด โดยเฉพาะสีขาวและสีดำ งานลักษณะนี้ไม่เน้นเนื้อหาและเรื่องราว แต่วาดเส้นง่าย ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสายตายิ่งสะดุดตามากเท่าใดก็แสดงว่าประสบผลสำเร็จมากเท่านั้นศิลปะแบบนี้จึงนิยมใช้ในงานโฆษณา การจัดเวที การจัดร้าน ศิลปินในงานออปอาร์ต เช่น บริดเก็ต ไรเลย์ (Bridget Riley) เป็นต้น



สรุปรูปแบบงานทัศนศิลป์ 


ศิลปะตะวันตก
 ศิลปะตะวันตกจัดเป็นศิลปะแบบเหมือนจริง (realistic Art) เนื่องจากศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานโดยยึดความเหมือนจริงตามธรรมชาติทั้งเรื่องแสงเงา สีสัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลงานศิลปะตะวันตกจะมีรูปแบบตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ เช่นประติมากรรมรูปมนุษย์หรือสัตว์ ที่มีลักษณะโครงสร้างร่างกายกล้ามเนื้อที่มีความเหมือนจริง
ลักษณะของศิลปะตะวันตกจะมีความคล้ายคลึงกันในแต่ละท้องที่เพราะคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน แม้จะต่างลัทธิก็ตาม นอกจากนี้สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของฝั่งตะวันตกที่มีความหนาวเย็นเหมือนกัน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่มีความใกล้เคียงกันส่งผลให้ศิลปะตะวันตกมีลักษณะที่ร่วมกันไม่แยกเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เด่นชัดเหมือนศิลปะตะวันออก
การสร้างสรรค์งานศิลปะของชาวตะวันตกนั้นมีจุดเริ่มต้นจากความศรัทธาในศาสนาจึงมีความต้องการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อจรรโลง คริสต์ศาสนา ด้วยความเลื่อมใส จากความเชื่อในพระเจ้าทำให้ผลงานทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของพระเจ้า
ศิลปะตะวันตกมักคิดหาวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อหาแนวทางของตนเองทำให้ผลงานของศิลปินแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันเช่นการสร้างสรรค์ผลงานของ ปาโบล  ปีกัสโซ ที่ใช้วิธีการตัดทอนรายละเอียดของรูปร่าง รูปทรง สี แสง-เงาให้ลดน้อยลง หรือผิดไปจากความเป็นจริง หรือการสร้างสรรค์งานให้เป็นรูปแบบนามธรรม (abstraction) ที่ใช้ความรู้สึก เช่น ความสุข ความเศร้าเป็นสื่อแทนรูปร่างรูปทรง





ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา


ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (คริสต์ศตวรรษที่ 12-ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18)


ศิลปะแบบเรอเนซองซ์ (Renaissance)
          ศิลปะแบบเรอเนซองซ์มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความพยายามสร้างงานศิลปะให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด และแสดงออกถึงจิตใจของกลุ่มชนมากกว่าแสดงออกซึ่งความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่ง ศิลปะในสมัยนี้จึงเป็นการแสดงออกซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มิได้สรรค์สร้างเพื่อยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์หรือศาสนา
          จิตรกรรม ในสมัยนี้มีความก้าวหน้าทางการวาดภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดภาพบน  ฝาผนังแบบเฟรสโก (Fresco) ซึ่งเป็นวิธีวาดภาพบนผนังปูนเปียกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนผนังปูนแห้ง เพื่อจะได้ง่ายต่อการดูดซึมของสี วิธีการนี้ให้ความคงทนถาวรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การวาดภาพยังนิยมวาดให้มีทัศนียภาพทำให้เกิดเป็นภาพ 3 มิติ (Perspective) ภาพวาดจึงดูสมจริงและมีชีวิตชีวา
           เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) เป็นศิลปินที่มีอัจฉริยะภาพในสมัยนี้ ซึ่งมีความสามารถรอบด้าน เขาได้คิดค้นการวาดภาพโดยใช้เทคนิคสฟูมาโต (Sfumato) คือ การทำให้ภาพด้านหลังเลือนรางเหมือนมีหมอก อันเป็นการสร้างระยะไกลให้เกิดขึ้นและทำให้ภาพเด่นมากขึ้นอีกด้วย การนำหลักวาดภาพที่เรียกว่า แวนิชชิ่ง พอยท์ (Vanishing Point) เป็นการนำจุดนำสายตามาใช้ในการวาดภาพ ทำให้งานของเขามีความงดงามอยู่บนพื้นฐานความกลมกลืนระหว่างศีรษะของมนุษย์กับทัศนียภาพที่เป็นธรรมชาติ จึงสร้างอารมณ์ให้แก่ผู้ชม ผลงานจิตรกรรมที่สำคัญของเขาได้แก่ ภาพโมนาลิซา (Monalisa) ภาพอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) เป็นต้น


 ภาพโมนาลิซา
                                                   ผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี

นอกจากนี้ยังมีศิลปินคนสำคัญอีก เช่น ซานซิโอ ราฟาเอล (Sanzio  Raphaal) ผลงานของเขาเน้นความงามของรูปร่างมนุษย์ที่แสดงอารมณ์หลากหลาย เน้นสีสด กายวิภาคความงามอ่อนช้อย เหมือนเคลื่อนไหวภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดคือภาพโรงเรียนเอเธนส์ (The School of Athens) เป็นภาพที่เกี่ยวกับนักปรัชญากรีกหลายคน ศิลปินอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นต้นแบบของศิลปกรรมในสมัยต่อมา คือ มิเกลัน หรือไมเคิลแองเจโล (Michaelangelo) ผู้มีความสามารถทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ผลงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย (The Last of Judgement) งานจิตรกรรมของไมเคิลแองเจโล มีลักษณะโดดเด่นแสดงออกให้เห็นการเปลือยกายเห็นกล้ามเนื้อและกายวิภาคอย่างชัดเจน

                                      ภาพโรงเรียนเอเธนส์ ผลงานจิตรกรรมของราฟาเอล            
  ประดับที่วังพระสันตะปาปา นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี 

                                ภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย ผลงานจิตรกรรมของไมเคิลแองเจโล
                                   บนฝาผนังโบสถ์ซีสติน ณ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี

         ประติมากรรม งานแกะสลักเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้ วัสดุที่นิยมแกะเป็นพวกหินอ่อนมากกว่าหินชนิดอื่น ๆ ศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ไมเคิลแองเจโล ผลงานของเขาส่วนมากได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์แต่รูปแบบยังคงดำเนินตามแบบกรีกและโรมัน งานประติมากรรมที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของโลก คือ ปิเอตา (Pieta) ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารเซนต์เซนต์ปีเตอร์ งานแกะสลักรูปเดวิด (David) วีรบุรุษของชาวยิว ปัจจุบันอยู่ที่  สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเมืองฟลอเรนซ์
                                                  ประติมากรรมแกะสลักรูปเดวิด
                                          ผลงานของไมเคิลแองเจโล ณ สถาบันวิจิตรศิลป์
                                                 แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

   สถาปัตยกรรม ในสมัยนี้มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความแน่นหนาถาวรคำนึงถึงสัดส่วนอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีลักษณะหรูหราแปลกตา สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ สร้างเมื่อ ค.ศ. 1506-1626 ใช้เวลาก่อสร้าง 120 ปี ทำให้โบสถ์เซนต์ปีเตอร์มีความวิจิตรพิสดาร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของโลก
          สรุปได้ว่า ศิลปกรรมเรอเนซองซ์ แสดงออกซึ่งจิตวิญญาณตามแบบคริสเตียนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สรีระแบบเหมือนจริงตามวิถีแบบกรีกโรมัน แต่ก็เป็นไปเพื่อรับใช้ศาสนาผ่านการสร้างสรรค์งานของศิลปิน                      
                                     โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ นครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี
                                           

ศิลปะบาโรก (Baroque)

          ช่วงเวลาที่ศิลปะแบบเรอเนซองซ์ (Renaissance) กำลังแพร่หลายทั่วยุโรปจนเกิดความอิ่มตัวนั้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ได้เกิดศิลปะแนวใหม่ที่เรียกว่า “บาโรก” (Baroque) ซึ่งกระจายอยู่ในหลายประเทศของยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น
          ลักษณะศิลปะของบาโรกมีความแตกต่างจากศิลปะเรอเนซองซ์ตรงที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวมากกว่า ถ้าวาดภาพคนก็มักจะตกแต่งเกินปกติ เสื้อผ้าอาภรณ์รวมทั้งการประดับตกแต่งอาคารมักจะฉูดฉาด สีสันแพรวพราว ระยิบระยับ
          อาจกล่าวได้ว่าศิลปะบาโรกมีลักษณะงานที่เกิดจากความอิ่มตัวของศิลปะในสมัยเรอเนซองซ์ ประกอบกับสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่นักปราชญ์ทางคณิตศาสตร์เฟื่องฟู เช่น เรอเน เดส์การ์ต (Renee Descartes) เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ดังนั้น แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เรขาคณิต และฟิสิกส์ จึงมีผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบบาโรก โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมซึ่งนิยมออกแบบให้มีลวดลายเรขาคณิตจำพวกเส้นโค้ง และการจัดลวดลายที่วางระยะห่างเหมาะสมกับพื้นที่ว่าง มีการตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรบรรจงแต่เคร่งครัดในการเดินตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด การตกแต่งภายในอาคารเน้นความหรูหรา สง่า น่าเกรงขาม แสดงออกซึ่งความรู้สึกของความมั่งคั่งหรูหรา ในสมัยนี้ชนชั้นศักดินาต่าง ๆ นิยมตกแต่งประดับประดาอาคารที่พักอย่างหรูหราในเชิงแข่งขันกัน โดยเฉพาะกรุงปารีส เป็นศุนย์กลางแห่งศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญในสมัยนั้น
          ศิลปินบาโรกที่สำคัญโดยส่วนใหญ่เป็นจิตรกรได้แก่ ดิเอโก เวลาซ์เควซ (Diego Velaazquez) ศิลปินชาวสเปน มีผลงานที่สำคัญคือ ภาพลาสเมนีนาส (Las meninas) เรมบรานด์ ฟาน ริจ์น (Renbrandt Van Rijn) ศิลปินชาวดัทซ์ มีผลงานวาดภาพเหมือนของตนเอง และภาพสมาคมพ่อค้า (Syndics of the Cloth Guild) จูลส์ อาดวง มองซารต์ (Jules Hardouin Monsart) ผู้ออกแบบโรงสวดในพระราชวังแวร์ซาย    
                             “การแต่งงานของนักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย”                            

                                           (The Mystic Marriage of St. Catherine)
                                                   โดย อันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ

                                               พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส

ศิลปะโรโคโค (Rococo)

          หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สวรรคตแล้ว ฝรั่งเศสยังคงเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรมโดยเฉพาะกรุงปารีส แต่ศิลปะได้เริ่มเปลี่ยนจากบาโรกเป็นโรโคโค ศิลปะโรโคโคนั้นได้ลดทอนบางอย่างลงไป เช่น ลวดลายที่หนาแน่นในแบบบาโรกได้ถูกลดลงเพื่อทำให้ดูบอบบาง และปรับปรุงลวดลายเพื่อทำให้เกิดความอ่อนหวาน ส่วนเส้นโค้งที่นิยมมากในสมัยบาโรก ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้น้อยลงและเพิ่มเส้นตรง
          สำหรับงานจิตรกรรมและประติมากรรมของโรโคโคนั้น มีลักษณะเป็นแบบวิชาการชั้นสูง (Classic Academic Character) ทางด้านจิตรกรรมมีการใช้สีสันที่สดชื่น นุ่มนวล ดูมีชีวิตชีวา แต่แสดงออกซึ่งความกลมกลืนกันของสีและรูปร่าง เช่นผลงานของฌอง อองตวน วัตโต (Jean Antoine Watteau) ศิลปินฝรั่งเศส ผู้สร้างผลงานภาพการกลับมาของไซเธรา (Return from Cythera) ฟรองซัวส์  บูแชร์ (Francoise  Boucher) วาดภาพกามเทพ (Cupid a Coptive) ฌอง-โอโนเร  ฟราโกนาร์ด (Jean-Honore Fragonard) วาดภาพโล้ชิงช้า (The swing) ประติมากรที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะโรโคโค ได้แก่ โคลดิออง (Clodion : Claude Michel) สลักรูป “Nymph and Satyr” และฌอง    อองตวน อูดง (Jean Antoine Houdon) สลักรูปเหมือนของวอลแตร์ (Voltaire) เป็นต้น

                                          ภาพโล้ชิงช้า ผลงานจิตรกรรมของ ฟราโกนาร์ด
                                                     “Nymph and Satyr
                                                ผลงานประติมากรรมของโคลดิออง

                           สรุปศิลปะยุคฟื้นฟฟูศิลปวิทยา